วัดเขาพุทธโคดม
การเรียนการสอน
ภาษาบาลี
ภาษาบาลีคือภาษาที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ภาษาบาลีคือรากแก้วของพุทธศาสนา ถ้าชาวพุทธมีความรู้บาลีดี
ก็จะทำให้เข้าใจคำสอนได้ง่ายยิ่งขึ้น การปฏิบัติต่าง ๆ ก็ผิดพลาดน้อยลง
ดั้งนั้นทางวัดเขาพุทธโคดม ได้มีการจัดเรียน การสอนภาษาบาลี
มาโดยต่อเนื่องโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (พระมหาชัยวุฒิ จนฺทวณฺโณ ป.ธ ๗)
โดยจัดแบ่งเป็นคลาสเรียนแบบแยก
ป.ธ ๑-๒ และ ป.ธ ๓.
หลักสูตรนี้ ไม่จำกัดวัยและเพศผู้เรียน ขอให้อ่านภาษาไทยได้
เขียนไทยได้ ก็เรียนได้ คุณจะเรียนจบอะไรมา
การรู้ภาษาบาลี ทำให้ง่ายในการศึกษาพระไตรปิฎก ง่ายในการฟังธรรม
ง่ายในการปฏิบัติ และทำให้เข้าใจภาษาไทยได้ดีด้วย (ภาษาไทยมีรากมาจากภาษาบาลีค่อนข้างมาก)
สนใจติดต่อได้โดยตรงที่ วัดเขาพุทธโคดม
อภิธรรม
ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาพระอภิธรรมมีอยู่มากมายหลายประการ แต่ที่สำคัญมี โดยสังเขปดังนี้
๑ การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะพระอภิธรรมเกิดจากพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ การเข้าถึงพระอภิธรรมจึงเท่ากับเข้าถึงพระปัญญาคุณของ พระพุทธองค์อย่างแท้จริง
๒ การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือศึกษาธรรมชาติการทำงานของกายและใจซึ่งเป็นธรรมชาติ ที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิต (วิญญาณ) เรื่องเจตสิก เรื่องอำนาจจิต เรื่องวิถีจิต เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องสัตว์ใน ภพภูมิต่างๆ และเรื่องกลไกการทำงานของกิเลส ทำให้รู้ว่าชีวิตของเราในชาติปัจจุบันนี้มาจากไหนและ มาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อได้คำตอบชัดเจนดีแล้วก็จะรู้ว่าตายแล้วไปไหนและ ไปได้อย่างไร อะไรเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า ทำให้หมดความสงสัยแล้วเกิดอีกหรือไม่ นรก สวรรค์ มีจริงไหม ทำให้มีความเข้าใจเรื่องกรรม และการส่งผลของกรรม (วิบาก) อย่างละเอียด ลึกซึ้ง
๓ ผู้ศึกษา พระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม หรือสภาวธรรมอันจริงแท้ตาม ธรรมชาติ ในพระอภิธรรมจะแยกสภาวะออกให้เห็นว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไร ทั้งนั้น คงมีแต่สภาวธรรมคือ จิต เจตสิก รูป ที่วนเวียนอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับไปอีก มีสภาพเกิดดับอยู่เช่นนี้ โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาธรรมทั้ง ๓ นี้ก็ทำงานอยู่เช่นนี้โดยไม่มีเวลาหยุด พักเลย สภาวธรรมหรือธรรมชาติเหล่านี้มิใช่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า พระพรหมพระอินทร์ หรือสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เป็นผู้บันดาลหรือเป็นผู้สร้าง แต่สภาวธรรมเหล่านี้เป็นผลอันเกิดมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหานั่นเองที่เป็นผู้สร้าง
๔ การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจสภาวธรรมอีกประการหนึ่ง อันเป็นจุดมุ่งหมาย สูงสุดในพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เข้าถึงนั่นก็คือนิพพาน นิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ผู้ที่ปราศจากกิเลสตัณหาแล้วนั้น เมื่อหมดอายุขัย ก็จะไม่มีการสืบต่อของ จิต + เจตสิก และรูป อีกต่อไป ไม่มีการสืบต่อภพชาติ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมชาติที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นธรรมชาติที่ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงและเป็นธรรมชาติที่ พ้นจากจิต เจตสิก รูป นิพพานมิใช่เป็นแดนสุขาวดีที่เป็นอมตะและเพียบพร้อมด้วยความสุขล้วน ๆ ตลอดนิรันดร์กาลตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
๕ การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าใจคำสอนที่มีคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะ แค่การทำทาน รักษาศีล และการทำสมาธิก็ยังมิใช่คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นเหตุให้ต้องเกิดมารับผลของกุศลเหล่านั้นอีก ท่านเรียกว่า วัฎฎกุศล เพราะกุศลชนิดนี้ยังไม่ทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฎฐาน ๔ เพื่อให้เห็นว่าทั้งนามธรรม (จิต + เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) มีสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีการเกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา หาแก่นสาร หาตัวตน หาเจ้าของไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้วก็จะนำไปสู่ การประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด
๖ การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนาซึ่งต้องใช้นามธรรม (จิต + เจตสิก) และรูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เมื่อกำหนดรู้อารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ ถูกต้อง การปฏิบัติก็ย่อมได้ผลตามที่ต้องการ
๗ การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการสั่งสมปัญญาบารมีที่ประเสริฐที่สุดไม่มีวิทยาการใด ๆ ในโลกที่ศึกษาแล้วจะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งโลกเท่ากับการศึกษาพระอภิธรรม
๘ การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการช่วยกันรักษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังและเป็นการช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรตลอดไป
นักธรรม
ประโยชน์ของการศึกษาธรรม
๑. ได้เรียนรู้ภาษาธรรม
ภาษาธรรมหรือภาษาธรรมะนั้น เป็นภาษาที่เข้าใจยากสำหรับบุคคลทั่วไปที่มิได้เคยเรียนภาษาบาลี เช่นคำว่า สติ สัมปชัญญะ กตัญญูกตเวที เป็นต้น เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ก็ทำให้เข้าใจความหมายของศัพท์ภาษาธรรมดังกล่าว และศัพท์อื่นๆ มากยิ่งขึ้น
๒. ได้เรียนรู้ภาษาไทย
ประชาชนชาวไทยที่ไปตั้งรกรากอยู่ต่างแดนเป็นเวลานานอาจลืมภาษาไทยไปบ้างแล้ว หรือบางคนอาจได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีวิทยฐานะไม่สูงนัก หรือบางคนอาจไปเจริญเติมในต่างแดนจึงไม่มีโอกาสเรียนภาษาไทย แต่เมื่อทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมก็ได้มีโอกาสเรียนทั้งภาษาธรรมและภาษาไทยไปด้วย และได้ฝึกหัดทั้งการพูดและการเขียนภาษาไทยได้ถูกต้องและคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยไปพร้อมๆ กันด้วย
๓. ได้เรียนรู้ภาษาใจ
ภาษาใจหรือจิตใจเป็นเรื่องนามธรรม ผู้ที่ไม่ได้เรียนธรรมย่อมไม่อาจเข้าใจถึงนามธรรมและนามรูปได้ โดยทั่วไปก็มักจะเข้าใจว่า กายกับใจก็คือสิ่งเดียวกัน เมื่อได้เรียนธรรมะแล้วจึงสามารถแยกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ออกจากกันได้ อาจรู้ได้ว่า กายคือรูปธรรม ส่วนจิตหรือจิตใจคือนามธรรม แต่ทั้งส่วนส่วนนี้จะต้องอาศัยกันและกันหรือทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ แต่จิตใจนั่นมักจะมีอิทธิพลเหนือร่างกายเสมอเพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสิ่งอย่างจะดำเนินไปอย่างไรนั้น จะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตาม ก็ล้วนแต่มีใจหรือจิตใจเป็นแกนนำ พระพุทธองค์จึงทรงเน้นย้ำเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจอยู่เสมอ
๔. ได้รู้ภาษาสัจธรรม
คำว่า “สัจจธรรม” คือความจริงที่มีอยู่ประจำโลก ได้แก่ไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ๓ ประการ ซึ่งซึมซับอยู่ในสรรพสิ่งทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตก็จะตกอยู่ในอำนาจแห่งสัจธรรม ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนเปลี่ยนแปลงแปรผัน
๒. ทุกขัง คือสภาวะที่เป็นทุกข์หรือการที่สิ่งนั้นๆ ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้จึงเป็นทุกข์หรือมีความทุกข์หรือมีความทุกข์อยู่ในตัวของมันเอง
๓. อนัตตา คือสภาวะที่ไม่มีตน หรือสภาวะที่ใครๆ ไม่อาจจะบังคับได้หรือไม่อยู่ในอำนาจของใคร เช่น ไม่อาจบังคับให้ร่างกายไม่ให้เจ็บปวด เหี่ยวย่นหรือคร่ำคร่าชราภาพได้ เป็นต้น ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏขึ้นมาอย่างนั้น แล้วเขาก็เปลี่ยนแปรไปอย่างนั้น และแล้วก็มีดับสลายไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้ คือการประมวลประโยชน์จากสิ่งที่ประชาชนเหล่านั้นได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทำให้เขาเหล่านั้นรู้จักยับยั้งชั่งใจและปล่อยปละละวางพอสมควร นับเป็นบุญมหาศาลที่ประชาชนเหล่านั้น ได้เกิดมาเป็นคนไทยและมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ แม้ผู้ที่หันมาสนใจในพระพุทธศาสนาก็มีความภูมิใจมิใช่น้อยที่ได้เรียนและเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต
เกี่ยวกับทางวัด
วัดเขาพุทธโคดม
๑. สภาพทั่วไป
วัดเขาพุทธโคดมตั้งอยู่บนเขาด้านตะวันออกของถนนสุขุมวิท เลยหลักกิโลเมตรที่ ๑๑๙ ไปเล็กน้อย (ถัดจากปั้มเอสโซ่ มีไฟแดงหน้าวัด) อยู่ในเขตการปกครอง ของตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ปัจจุบัน วัดเขาพุทธโคดมเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความเจริญทางวัตถุสูง รอบๆเขาเต็มไปด้วยชุมชนที่อาศัยอยู่ แหล่งพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม สถานที่ตั้งวัดอยู่บนเขาห่างจากชายทะเลประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เมตร และหันหน้าไปทางทะเล เมื่ออยู่ที่วัดจึงได้รับลมทะเลและมองเห็นทิวทัศน์ทะเลสวยงาม
ภายในวัด มีการปลูกสร้างอาคารเป็นที่ประชุมอบรม ที่พัก และกุฏิจำนวนมาก เหมาะสำหรับเป็นสถานที่เรียนของภิกษุ-สามเณร เป็นสถานที่ฝึกอบรม พร้อมมีที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม มีการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความร่มรื่น คงสภาพป่าไว้ โดยปลูกอาคารต่างระดับแบบขั้นบันได ดังนั้น แม้ภายในวัดจะมีผู้พักอาศัยเพื่อปฏิบัติธรรมจำนวนมาก แต่ก็ยังรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ได้ และยังคงมีความสงบ วิเวก ด้วยสัดส่วนของสิ่งก่อสร้างและต้นไม้ที่กลมกลืน
ภาพลักษณ์ของพระภิกษุ-สามเณร แห่งวัดเขาพุทธโคดม เป็นนักบวชผู้มุ่งศึกษาเล่าเรียน มีศีลาจารวัตรเคร่งครัด ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เหมาะสมกับการเป็นสมณะเพศในพุทธศาสนา ประชาชนจึงเลื่อมใสศรัทธา ส่งบุตรหลานบวชเรียน ทำให้วัดมีความสัมพันธ์กับชุมชน พระภิกษุจึงมีกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน และประชาชนเข้าไปทำบุญในวัดจำนวนมาก สมกับเป็นวัดที่ได้มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี
สำเริง สังวโร (๒๕๒๗) ได้กล่าวถึงวัดเขาพุทธโคดมไว้เป็นร้อยกรอง ดังนี้
“วัดเขาพุทธโคดมนั้นสมชื่อ นามระบือทั่วแคว้นแดนสยาม
มีทั้งไทยและเทศทั่วเขตคาม ดูอารามงามสง่าบนผาชัน
ทั้งวันเสาร์วันอาทิตย์ดูไม่ขัด แน่นขนัดปวงชนดูล้นหลาม
สถานที่น่าชมสมกับนาม ช่างงดงามละลานสะคราญตา
ทั้งทางขึ้นทางลงดูโค้งคด งามไปหมดทั้งกุฎีที่ศึกษา
เจ้าอาวาสสมองดีมีปัญญา ตรึกตรองมาจัดประดิษฐ์สิทธิคุณ
เขามีเรียนอภิธรรมคำบาลี ทั้งแม่ชีก็ร่ำเรียนเพียรศึกษา
เป็นสถานที่กำเนิดเกิดวิชา ล้วนควรค่าดังระบือชื่อโคดม
ออกพรรษาปลายมีเขามีจัด ปฏิบัติ เร่งอบรมทุกสาขา
เฉพาะนักธรรมเอกภูมิปัญญา ทุกวิชาหมดสิ้นกบิลความ.....”
กิจกรรมของทางวัด
......
ติดต่อทางวัด
วัดเขาพุทธโคดม
42/2 หมู่ 4 ตำบล สุรศักดิ์
อำเภอศรีราชา ชลบุรี 20110
สำนักงาน
42/2 หมู่ 4 ตำบล สุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา ชลบุรี 20110 ประเทศไทย